แพลงก์ตอนบลูม บริเวณหาดดวงตะวัน จังหวัดระยอง ไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำและความปลอดภัยของผู้บริโภค

นายอำนวย คงพรหม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล เปิดเผยว่า กรมประมง ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระยอง ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบริเวณดังกล่าวทันทีตามที่ได้รับแจ้งเหตุ พบว่าขณะนี้น้ำทะเลมีสีเขียวใส ไม่มีกลิ่นผิดปกติแล้วและไม่พบการตายของสัตว์น้ำ 

จากผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ ชนิดแพลงก์ตอนที่พบเป็นแพลงก์ตอนพืชกลุ่ม ไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca sp. ที่มีความหนาแน่น 2,102 เซลล์ต่อลิตร และแพลงก์ตอนพืช ชนิด Cerarium sp. ที่มีความหนาแน่น 2,319 เซลล์ต่อลิตร โดยทั้งสองชนิดไม่สร้างสารชีวพิษไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีดังกล่าว ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำและความปลอดภัย ของผู้บริโภค รวมถึงการประมงอวนจมปูในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

ปรากฏการณ์ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี” หรือแพลงก์ตอนบลูม สามารถเกิดขึ้นได้ในทะเลทุกแห่งทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงฤดูฝน หากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีคลื่นลมแรงเป็นเวลาหลายวันจะไปชะล้างธาตุอาหารที่อยู่ในพื้นดินบริเวณชายฝั่งลงสู่ท้องทะเลและเมื่อปริมาณธาตุอาหารมากพอบวกกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม แพลงก์ตอนพืช (bloom) ก็จะเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว เมื่อแพลงก์ตอนพืชตายลงและเริ่มสลายตัว น้ำทะเลบริเวณดังกล่าวจะเกิดการเน่าเสียทำให้มีลักษณะสีเขียวเป็นเมือกเหนียว มีกลิ่นคาวจัด ทำให้ค่าออกซิเจนลดลง และค่าแอมโมเนียสูงขึ้น และหากในบางพื้นที่มีแพลงก์ตอนพืชตายเป็นจำนวนมากอาจจะส่งผลกระทบทำให้สัตว์น้ำตายได้ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปรากฏการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวครั้งนี้จะไม่รุนแรงบวกกับมีปริมาณฝนลดลง แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกอยู่อย่างต่อเนื่อง ขอฝากแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง หากพบปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถแจ้งเหตุเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงลงไปตรวจสอบ ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระยอง โทร. 038 651764

ที่มา  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar