ความเป็นมาของวันน้ำโลก และ Theme วันน้ำโลกปี 2566

 

     โลกของเราประกอบด้วยพื้นดินและพื้นน้ำ โดยส่วนที่เป็นพื้นน้ำนั้น มีอยู่ประมาณ 3 ส่วน หรือร้อยละ 75และเป็นพื้นดิน 1 ส่วน หรือร้อยละ 25 น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ต่างๆ
     “น้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของสัตว์และพืช คนเรามีชีวิตอยู่โดยขาดน้ำได้ไม่เกิน 3 วัน และน้ำยังมี
ความจำเป็นทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
     ในปัจจุบันภาวะการขาดแคลนน้ำและปัญหามลพิษในน้ำมีอัตราสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของประชากรมนุษย์ ส่งผลต่อความต้องการการใช้น้ำ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง อย่างน้อยที่สุด 1 เดือนต่อปี
     ผลกระทบของมลพิษในน้ำ และการขาดแคลนน้ำ ส่งผลถึงความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะอาดของน้ำ โดยในปี 2017 มีการรายงานว่า ประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคน
ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด แม้เพียงเพื่อล้างมือในที่พักอาศัยของตน ซึ่งเป็นวิธีการที่ประหยัดและปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่งในการรับมือกับการแพร่กระจายของไวรัสหรือโรคภัยต่างๆ เช่น วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID19)
     “น้ำ” ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สถานการณ์น้ำในเชิงปริมาณมีแนวโน้มที่จะประเมินและคาดการณ์ได้ยาก หลายพื้นที่มีความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำ
ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านสุขลักษณะ ความสามารถในการผลิต ความยั่งยืนในการพัฒนา รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกอีกด้วย
             องค์การสหประชาชาติ ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต ในปี 1992 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น " วันน้ำโลก " หรือ "World Water Day" เพื่อเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติ ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ 
โดยในปี 2566 ซึ่งเป็นครึ่งทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล (SDG6 : Clean Water & Sanitation) ซึ่งประเทศสมาชิกมีผลการดำเนินการร่วมกันต่ำกว่าเป้าหมาย องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องวันน้ำโลกประจำปี 2023 ว่า“Accelerating change” หรือ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” โดยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน “Be the change you want to see in the world.” หรือ “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณอยากเห็นในโลกใบนี้” เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยประเด็นสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะแลกเปลี่ยนในการประชุม
ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2566 ประกอบด้วย 5 ประเด็น ดังนี้ 
1. Water for health: การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด และถูกสุขอนามัย
2. Water for sustainable development: การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า โดยมีการจัดการอย่างสมดุลของน้ำ พลังงาน และอาหาร ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
3. Water for climate, Resilience and Environment: การพิจารณาน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิอากาศ การปรับตัว และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากน้ำ 
4. Water for cooperation: ความร่วมมือบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนระว่างประเทศ การพิจารณาน้ำซึ่งเป็นปัจจัยร่วมในทุกประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน
5. Water action decade: การเร่งปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล

Ref. www.unwater.org/news/un-2023-water-conference-proposed-themes-preparatory-meeting-dates-announced

        “เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ” ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นองค์กรบูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับกว่า 40 หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัตด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบด้วย 
          (1) การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม 
          (2) การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ 
          (3) การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ 
          (4) การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ 
          (5) การเสริมความเข้มแข็ง ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน 

 

 

        โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานระบบนิเวศ ประกอบกับวิถีทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน เพื่อสร้างสมดุลนํ้า และบริหารจัดการในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือของภาคีและการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วน เป็นกลไกสำคัญในการเร่งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ขับเคลื่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมขับเคลื่อนผ่านการเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศ ที่พร้อมเป็นข้อกลางเชื่อมโยงและขับเคลื่อนทุกพื้นที่ 
        ตามประเด็นที่องค์การสหประชาติรณรงค์ “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณอยากเห็นในโลกใบนี้” 
สทนช. สนับสนุนการรณรงค์เร่งการเปลี่ยนแปลง ด้วยความร่วมมือบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของ
ทุกภาคส่วน โดยเน้นพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้สะอาดได้มาตรฐาน การใช้น้ำอย่างประหยัดในครัวเรือน สถานศึกษา 
สถานที่ทำงาน และชุมชน ควบคู่กับการถ่ายทอดแนวคิดและส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของเยาวชน เพื่อขับเคลื่อน
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.onwr.go.th / www.facebook.com/onwrnews


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar