สถานการณ์ส่งออกของไทย ล่าสุดก.พ. 2567 การส่งออกของไทย ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 บวก 3.6% ส่งผลให้ภาพรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี ยังบวกที่ 6.7%

 

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีมูลค่า 23,348 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.6% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตามอานิสงส์ของเศรษฐกิจโลก ที่ทยอยฟื้นตัวในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่กลับมาดีขึ้น  ความเชื่อมั่นการบริโภค และภาคการผลิตโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 7.5% ขยายตัวได้ดี ในสินค้ากาแฟ บวกถึง 178%   รวมทั้ง ข้าว +53.6% และยางพารา +31.7 % เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทั้ง หม้อแปลงไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์  คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์   ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวในรอบ 6 เดือน แต่มีสินค้าดาวรุ่ง ที่ยังขยายตัวได้ดีทั้ง นมและผลิตภัณฑ์นม อาหารสัตว์เลี้ยง   ผลไม้กระป๋องและแปรรูป  และสิ่งปรุงรสอาหาร 

 

 

ขณะที่ แนวโน้มการส่งออกในเดือนต่อไป (มีนาคม) ถือว่ามีความท้าทาย จากฐานการส่งออกในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว สูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัว 1 - 2% 

 

ส่วนมุมมองของภาคเอกชน   นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. มองว่าในเดือนมีนาคม 2567 มูลค่าการส่งออกน่าจะเฉลี่ยที่ 25,000 - 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะต่ำกว่าฐานปีที่แล้ว แต่ภาพรวมในไตรมาสแรก น่าจะยังเป็นบวกได้ 1-2% ดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย เพราะไทย ยังมีสินค้าศักยภาพที่ส่งออกได้โดดเด่น ทั้งข้าว ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้รวมทั้งเศรษฐกิจในหลายประเทศดีต่อเนื่อง มีเพียงจีน ที่ยังต้องติดตามสถานการณ์ และเชื่อว่าในไตรมาสที่ 2 ก็ยังดีต่อเนื่อง ภายใต้ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้าง

 

ขณะที่ การนำเข้าของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,932 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.2%    ไทย ขาดดุลการค้า 554 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 46,034 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ารวม 3,311 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบ ทั้ง เครื่องจักรกล  เครื่องจักรไฟฟ้า ที่นำเข้ามาเพื่อการผลิตสินค้าและบริโภคในประเทศ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar