คมนาคม เดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จตามแผน เปิดบริการต้นปี 2571

 

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ว่า  ปัจจุบันงานก่อสร้างมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะติดปัญหาอยู่ 2 สัญญา กรณีเรื่องผลกระทบต่อมรดกโลกบริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีอยุธยา ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 4 - 5 และสัญญา 4 - 1 ปัญหาโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ดอนเมือง ก็ตาม  กระทรวงคมนาคม พร้อมเดินหน้างานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน  เพื่อให้เปิดบริการต้นปี 2571   มั่นใจว่าปัญหาเรื่องผลกระทบมรดกโลกจะได้ข้อยุติในเร็วๆนี้ หลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment :HIA) ให้ทางองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ภายในเดือนเมษายนนี้

 

 

ปัญหาความล่าช้าโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง  นายสุรพงษ์ ระบุว่าเนื่องจากขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อาจไม่ขยายเวลาบัตรส่งเสริมการลงทุน ให้เอกชนผู้ดำเนินโครงการคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ได้อีกเนื่องจากมีการขยายมาแล้ว 2 ครั้ง  ก็จะทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะคู่สัญญากับเอกชน ไม่สามารถออก NTP ให้ได้ และมีแนวโน้มว่าผู้รับงานไม่ประสงค์จะดำเนินโครงการต่อไป ดังนั้นการจะดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไป เป็นหน้าที่ของ สกพอ.พิจารณาตัดสินใจ  เชื่อว่าแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในกรณีที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จริง กระทรวงคมนาคม  โดย รฟท.จะดำเนินการช่วงโครงสร้างร่วมเอง  ยืนยันว่าภาครัฐพร้อมจัดหางบประมาณมาลงทุนเพื่อให้โครงการรถไฟไทย - จีนเดินหน้าได้จนแล้วเสร็จ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar