21 มีนาคม วันป่าไม้โลก (WORLD FORESTRY DAY)

 

วันป่าไม้โลก (World Forestry Day)
     ได้มีการเฉลิมฉลองกันต่อเนื่องเป็นเวลามากว่า 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ตลอดจนประโยชน์และผลิตผลต่างๆ ที่ได้รับจากป่าทั้งนี้ แนวคิดในการกำหนดวันป่าไม้โลกมีต้นกำเนิดมาจากการประชุมสมัชชนสมัยทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี 2541 และในปีเดียวกันนั้นเอง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นความตระหนักของสาธารณชนถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้

      โดยกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีทั่วโลก สาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็นวันป่าไม้โลกนั้น เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง (วันที่ 21 มีนาคมและ 22 กันยายนของทุกปี) หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนหมุนของโลกที่เอียง (Earth’s axial tilt) จะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ จุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า วิษุวัต (Equinox) เหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” หมายถึงเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดีและในวันที่ 21 มีนาคม ดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ศารทวิษุวิตของเขตซีกโลกใต้” (Autumnal equinox in Southern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง (วันศารท คือ วันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้) และ วสันตวิษุของซีกโลกเหนือ (Vernal Equinox in Northern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิเขตซีกโลกเหนือทั้งนี้ FAO ได้เลือกวันดังกล่าวเป็นวันเฉลิมฉลองป่าไม้โลก เพื่อส่งเสริมแลประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การป้องกัน (Protection) ผลิตผลป่าไม้ (Producion) และการนันทนาการ (Recreation)
 

การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26)
ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ นานาประเทศมีความตกลงและเห็นชอบร่วมกันว่าจะยุติการทำลายป่าในปี ค.ศ. 2030

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ยุติการตัดไม้ภายใน พ.ศ. 2573 และมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 (ไทยรัฐ ออนไลน์, 2564) ซึ่งประเด็นเรื่องของความสำคัญด้านคุณค่าของป่าไม้ มิได้พึ่งเริ่มกล่าวถึงเฉพาะใน COP26 เท่านั้น แต่มีการให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา มีการกำหนดให้
ทุกวันที่ 21 มีนาคม เป็น “วันป่าไม้โลก (International Day of Forests)” (ห้องสมุด มหาวิทยาลัยสยาม, 2561)

ตลอดระยะเวลายาวนานหลายร้อยล้านปี “ป่าไม้” ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (carbon sinks) ชั้นเยี่ยม เจริญเติบโตตามธรรมชาติ เพียงแค่มีดิน น้ำ อากาศ แสงแดด และความชื้น ในระดับที่เหมาะสมกับชนิดพันธุ์ เหล่าบรรดาพืชน้อยต้นอ่อนเจริญงอกงามกลายเป็นป่าใหญ่ อุดมไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ดึงดูดเหล่าสิ่งมีชีวิตทั้งน้อยใหญ่มารวมตัวกัน ทั้งนักล่า เหยื่อ และผู้ย่อยสลาย ก่อเกิดห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศ

ภายหลังเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จนกระทั่งมนุษย์ได้ถือกำเนิดและวิวัฒนาการ มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ในการดำรงชีวิตและเรียนรู้การพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในอดีตมนุษย์มีการใช้ทรัพยากรในระดับที่ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูได้ แต่ภายหลังเมื่อมีการใช้ทรัพยากรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติลดลงส่งผลให้แหล่งกักเก็บคาร์บอนลดลง (แต่ขณะเดียวกันก็มีการปลดปล่อยคาร์บอนมากยิ่งขึ้น) และสัตว์ป่าถูกคุกคามมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เกินขีดความสามารถที่ป่าไม้จะสามารถฟื้นฟูได้

จึงเป็นที่มาของความสำคัญของวันป่าไม้โลก หรือ International Day of Forests ในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี รวมทั้งข้อตกลงและความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือมีส่วนช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้

หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยชะลอภาวะโลกรวนลงได้ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และการใช้ทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

ในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีคุณประโยชน์เหล่านี้จะยังคงอยู่ได้เพียงการไม่เข้าไปรุกล้ำ คุกคาม ลักลอบ แต่ช่วยกันร่วมส่งเสริมและดูแลทรัพยากรเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อประชากรรุ่นถัดๆ ไป อาจเป็นในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้าก็ตาม แต่หากไม่มีการเริ่มต้นเลย ภาวะโลกรวนจะยิ่งทวีความรุนแรงและคืบคลานมาสู่มนุษย์เร็วยิ่งขึ้น ทุกคนสามารถมองอนาคตได้ แต่จะทำให้เกิดอนาคตตามภาพที่เราตั้งใจไว้ ต้องเริ่มต้นจากปัจจุบัน
ข้อมูล : กรมป่าไม้


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar