การดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

      ประเทศไทยหยิบยกปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ โดยมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ (The Anti-Trafficking in Persons Act 2008) และกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๙) ที่ให้ความสำคัญ ๕ ด้าน คือ การป้องกัน การดำเนินคดี   การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน การพัฒนาและการบริหารข้อมูล

๑ กลไกการดำเนินงานในประเทศไทย

                        กลไกการดำเนินงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประกอบด้วย คณะกรรมการระดับชาติ ๒ คณะ ได้แก่ (๑) คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ (๒) คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อผลักดันนโยบายระดับชาติ นอกจากนี้ พรบ. ดังกล่าว ยังได้มีการกำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีการใช้เงินทุนในสองส่วน ได้แก่ การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และ   การดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนสามารถเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณกองทุนฯ โดยเลขาธิการของกลไกระดับชาติ รวมทั้งการบริหารกองทุนฯ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

                        ในระดับจังหวัด มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และในระดับหน่วยงาน หลายหน่วยงานได้จัดตั้งหน่วยงานย่อยที่มีภารกิจเฉพาะ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ภายใต้สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

                        ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกลไกทั้งในระดับชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุติจากภาคประชาสังคมเป็นกรรมการในคณะกรรมการระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ และมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการคัดแยกเหยื่อด้วย

 

๒. การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

                        เนื่องจากไทยอยู่ในสถานะประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้ามนุษย์ นโยบายเพื่อแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก (Victim-Centered) และมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแสวงประโยชน์หรือการบังคับใช้แรงงาน การปราบปรามและดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งนโยบายที่ไทยกำลังให้ความสำคัญในปัจจุบัน   มีดังนี้

                        การดำเนินงานเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เหมาะสมของไทย เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖  นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมหารือในประเด็นดังกล่าว โดยเน้นการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน  และประสงค์ให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดได้รับการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยเพื่อให้สามารถอยู่ทำงานในไทยได้อย่างถูกต้องและได้รับสิทธิ/การคุ้มครองทางสังคมต่าง ๆ โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่อง    การปรับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวจากเดิมที่มีอยู่ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเตรียมตัวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน

                        การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่   (๑) การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองซึ่งลักลอบทำงานบนเรือประมงปีละ ๒ เดือน     (๒) จัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงใน ๗ จังหวัดนำร่อง  (๓) การประกาศใช้แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลในประเทศไทย (Good Labour Practices Guidelines for Primary Processing Workplaces in the Shrimp and Seafood Industry of Thailand - GLP/PPW) เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖ ซึ่งเน้นการขจัดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม และความร่วมมือในสถานประกอบกิจการ การไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ค่าชดเชย ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและสวัสดิการ และ  (๔) การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจแรงงานประมง

                        การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเน้นการดำเนินงานที่การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดย (๑) อนุญาตให้อยู่ใน ปทท. ได้ชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการฝึกอาชีพและทักษะ  (๒) การอนุญาตให้ผู้เสียหายสามารถออกไปทำงานนอกบ้านพักเมื่อมีความพร้อม  (๓) การดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมให้กับผู้เสียหายจากภาครัฐ และจากผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์

 

๓. การดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

                        กระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจที่เกี่ยวข้องในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ ผ่านการดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลทั่วโลก มีส่วนในกระบวนการกำหนดนโยบายโดยคณะกรรมการระดับชาติ และการดำเนินความร่วมมือในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี ซึ่งการดำเนินงานระดับระหว่างประเทศที่สำคัญ มีดังนี้

    ๓.๑ ระดับทวิภาคี

                        ๓.๑.๑ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขจัดการค้าเด็กและสตรีและการช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์ (MOU on Bilateral Cooperation for Eliminating Trafficking in Children and Women and Assisting Victims of Trafficking) ซึ่งไทยได้มีความตกลงกับกัมพูชา (ปี ๒๕๔๖) ลาว (ปี ๒๕๔๘) เวียดนาม (ปี ๒๕๕๑) และเมียนมาร์ (ปี ๒๕๕๒) โดยกำลังมีความริเริ่มปรับเนื้อหาของ MoU เพื่อให้เป็นปัจจุบันเพื่อสามารถรองรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือกับอีกหลายประเทศที่มีความเป็นไปได้มากว่าจะเป็นต้นทางของผู้เสียหายในประเทศไทย และ/หรือปลายทางของคนไทยที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

                              ๓.๑.๒ การจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวสารสำหรับการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ (Memorandum of Cooperation between the Government of Japan and Thailand concerning the Exchange of Information for the Purpose of Preventing and Combating Trafficking in Persons) เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องสงสัยในคดีค้ามนุษย์ ขยายผลการจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดทั้งในไทยและญี่ปุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

                              ๓.๑.๓ การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือ
ด้านการจ้างแรงงาน 
ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของการค้ามนุษย์ในภาคแรงงาน โดยเฝ้าระวังการแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบจากการผลักดันแรงงานอพยพไปทำงานในประเทศปลายทาง ซึ่งในปัจจุบันไทยมีความตกลงในลักษณะนี้กับอิสราเอล และกำลังอยู่พิจารณาร่างความตกลงกับบังกลาเทศ

   ๓.๒ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ

                        ๓.๒.๑ กระบวนการบาหลี (Regional Ministerial Conference on People Smuggling, Trafficking in Persons and Related Transnational Crime - Bali Process) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับการลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสมาชิก ๔๖ ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ และประเทศผู้สังเกตการณ์ ๑๙ ประเทศ มี Steering Group ซึ่งไทยเป็นสมาชิก สนับสนุนการทำงานของ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซียในฐานะประธานร่วม โดยได้จัดตั้ง สนง. สนับสนุนระดับภูมิภาค (Regional Support Office – RSO)   ที่กรุงเทพฯ เพื่ออนุวัติกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค (Regional Co-operation Framework – RCF) ซึ่งเปิดทำการเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๕  ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในกระบวนการบาหลี ดังนี้ (๑) มีผู้แทนไทย (ดร.ชัชชม อรรฆภิญญ์ สำนักงานอัยการสูงสุด) เป็นผู้ประสานงานคณะทำงานนโยบาย กรอบกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย (Coordinator of Bali Process activities on Policy and Law Enforcement Response)  (๒) ให้เงินอุดหนุนการดำเนินงานของ RSO และกระบวนการบาหลีระหว่างปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ เป็นจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ  (๓) ริเริ่มกิจกรรมในกรอบกระบวนการบาลี     เช่น ร่วมกับออสเตรเลียเพื่อจัดประชุมปฏิบัติการในหัวข้อการให้สัตยาบันและการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UNTOC) เมื่อปลายปี ๒๕๕๕ ซึ่งจะได้มีการต่อยอดกิจกรรมดังกล่าวในช่วงปี ๒๕๕๗

 

                              ๓.๒.๒  อาเซียน

                                                -  กลไกในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ไทยเป็นภาคี ได้แก่ ASEAN Declaration Against Trafficking in Persons Particularly Women and Children ปี ๒๕๔๗ ซึ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมาย การคัดแยกเหยื่อออกจากผู้กระทำผิด และการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ และสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาของภูมิภาคอาเซียน (The Treaty on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters among Like-Minded ASEAN Member Countries) ไทยได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาฯ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๖ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในอาเซียนได้อีกทางหนึ่ง

                                    -  กลไกหลักในกรอบอาเซียนที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ ได้แก่ Regional Plan of Action to Combat Trafficking in Persons ซึ่งไทยและสิงคโปร์ได้เริ่มผลักดันใน  การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ครั้งที่ ๑๒ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๕ ที่กรุงเทพฯ ให้สอดคล้องและสะท้อนความพยายามระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนแผนระดับโลก UN  Global Plan of Action to Combat Trafficking in Persons และการจัดทำอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ (ASEAN Convention on Trafficking in Persons) ซึ่งในระหว่างการประชุม AMMTC เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับแก้ร่างเอกสารทั้งสองฉบับ ทั้งนี้ โดยเป็นการเสริมความร่วมมือที่มีอยู่ในกรอบ Coordinated Mekong Ministerial Initiative against Trafficking (COMMIT)

     ๓.๓  การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในกรอบสหประชาชาติ

                        ๓.๓.๑  อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่

จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime – UNTOC) ไทยลงนาม UNTOC  เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ รวมทั้งลงนามพิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) และพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขน
ผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยทางบก ทะเล และอากาศ (Protocol Against the Smuggling of Migrants by Land, Sea and Air) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๔  ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และพิธีสารว่าด้วย    การป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

แหล่งที่มา : กองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ.


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar